ภูมิปัญญาขนม (ใน) ไทย : กระยาสารท
ภูมิปัญญาขนม (ใน) ไทย : กระยาสารท
![]() |
กระยาสารท คือ ขนมกวนทำจากข้าวเม่ารางที่คั่วแล้ว ข้าวตอกคั่วกรอบ ถั่วลิสงคั่ว งาขาวคั่ว นํ้าตาลอ้อยหรือนํ้าตาลมะพร้าว หัวกะทิกวนเข้าด้วยกันจนเหนียวเกาะเป็นปึก เมื่อกวนได้ที่แล้วมักนำไปใส่บนใบตองแห้งทำเป็นแผ่นหนาบางตามต้องการ
คำว่า “กระยา” แปลว่า อาหาร รวมหมายถึง อาหารที่ทำในวันสารท เดิมเป็นขนมพิธีกรรม ทำขึ้นเมื่อถึงคืนแรม ๑๕ คํ่า เดือน ๑๐ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ดังปรากฏในหนังสือนิราศเดือนของนายมีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ว่า
“ถึงเดือนสิบเห็นกันเมื่อวันสารท
ใส่อังคาสโภชนากระยาหาร
กระยาสารทกล้วยไข่ใส่โตกพาน
พวกชาวบ้านถ้วนหน้าธารณะ
เจ้างามคมห่มสีชุลีนบ
แล้วจับจบทัพพีน้อมศีรษะ
หยิบข้าวของกระยาสารทใส่บาตรพระ
ธารณะเสร็จสรรพกลับมาเรือน”
![]() |
กระยาสารทเป็นขนมหวานจัด สามารถเก็บไว้ได้นาน นิยมกินคู่กับกล้วยไข่ ซึ่งจะออกผลดกในช่วงเดือนสิบ จึงทำให้เป็นขนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ ๔ หมู่ กล่าวคือ ได้คาร์โบไฮเดรตจากข้าวตอกข้าวพองโปรตีนจากถั่วและงา ไขมันจากกะทิและงา วิตามินและแร่ธาตุจากกล้วยไข่ จึงเป็นขนมที่ให้พลังงานพอเหมาะแก่ร่างกาย สามารถพัฒนาเป็นอาหารสุขภาพได้
ปัจจุบันกระยาสารทเป็นขนมที่มีจำหน่ายทั่วไป นิยมใส่แปะแซเพื่อทำให้เหนียวยิ่งขึ้นและใส่นํ้าตาลมากขึ้นจนกลายเป็นขนมกวนรสหวานจัดและแข็งจนกินได้ยาก ทำให้ความนิยมลดน้อยลง
กระยาสารท ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖
เอกสารอ้างอิง
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (๒๕๖๐). ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล.
กรุงเทพ ฯ : สถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.